บริบทของกลุ่ม
บริบทของกลุ่มแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ตำบลหาดล้า หมู่ 2 อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
หลังจากที่ชาวบ้านตำบลหาดล้าในปัจจุบัน ได้อพยพโยกย้ายมาจากบ้านเดิม คือ พื้นที่เหนือเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งปัจจุบันถูกน้ำท่วม เนื่องจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ทางราชการได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 11 ไร่ ซึ่งพื้นที่เป็นป่าเซา และที่สร้างบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจำนวน 2 ไร่ต่อครอบครัว การทำมาหากินไม่ค่อยสะดวก ปลูกพืชอะไรก็ไม่ได้ผลผลิตที่พอเพียงต่อการเลี้ยงชีพ น้ำที่จะใช้ดื่มกินและใช้ในการเกษตรก็ไม่เพียงพอ ส่วนงานราชการหลายหน่วยงานได้เข้ามาส่งเสริมช่วยเหลือแต่ก็ยังไม่ได้ผล เพราะขาดแคลนน้ำ
ในปี พ.ศ. 2520 หน่วยงานนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านได้นำต้นกล้าเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มาให้ทดลองปลูก ปรากฏว่าพืชมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี แต่ยังไม่มีตลาดรองรับ
ในปี พ.ศ. 2524 มีสองตายาย ชื่อ ตาบุญ ยายบุญ ปิสา ได้ทำการหาวิธีแกะเปลือกมะม่วงหิมพานต์ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้หาตลาดและให้ลูกค้าลองชิม ทุกคนได้ลองชิมแล้วตอบเหมือนกันว่า มีรสชาติ หอม หวาน มัน อร่อย จึงทำให้สามารถนำไปจำหน่ายได้
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านจึงได้มีการปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์กันมากขึ้น และปัจจุบันเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของตำบลหาดล้า โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นขอตนในการแกะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เพื่อนำมาจำหน่าย ได้มีการหาตลาดกันเอง บางส่วนนำส่งให้ลูกหลนที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดช่วยนำไปจำหน่ายอีกทางหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2544 มีหน่วยงานราชการมาให้คำแนะนำส่งเสริมจัดตั้งกลุ่มแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ขึ้นโดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตำบลหาดล้า” และมีหน่วยงานเข้ามาส่งเสริม ทั้งภาครัฐ และเอกชน แนะนำให้ความรู้ด้านการผลิต การลงทุน และด้านการตลาด จึงทำให้กลุ่มฯ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
และในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “กลุ่มแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ตำบลหาดล้า บ้านตีนดอย หมู่ที่ 2 ตำบลหาดล้า อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยได้มีการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์เมล็ดมะม่วงหิมพานต์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมล็ดมะม่วงของกลุ่มมีรสชาติ หอม หวาน มัน อร่อยไม่เหมือนใคร